วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตะบองเพชร


ตะบองเพชรหรือแคทตัสที่เรารู้จักทั่วไปเป็นต้นไม้ยืนต้นที่น่าสนใจ เพราะเด่นสะดุดตาเนื่องจากมีหนามหรือตุ่มหนามปกคลุมทั่วต้น ลำต้นมีรูปร่างอวบสั้น เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน ดอกไม่มีก้านดอก แต่มีสีสันสดสวย และกลีบดอกบอบบาง ต้นตะบองเพชรที่ปลูกตามบ้านอาจมีรูปร่างแตกต่างกันมากมายเช่น เป็นรูปทรงกลมหรือทรงกระบอก บ้างชอบขึ้นเดี่ยว บ้างก็ขึ้นเป็นกลุ่ม ตะบองเพชรบางพันธุ์มีขนาดต้นเล็กกะทัดรัด แต่บางพันธุ์ก็สูงใหญ่ถึง 24 เมตร ตะบองเพชรบางพันธุ์ไม่มีใบ เพราะใบได้กลายเป็นรูปเป็นหนาม ทั้งนี้ก็เพื่อลดการคายน้ำของต้น และใช้หนามในการป้องกันอันตรายจากสัตว์และคน

การสืบค้นประวัติความเป็นมาทำให้เราได้ข้อมูลว่า ตะบองเพชรเป็นพืชพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา โดยเฉพาะตะบองเพชรสกุลโบตั๋น Rhipsalis นั้น เมื่อแพร่ถึงแอฟริกาต้องผจญสภาพอากาศที่เลวร้ายเช่น ฝนตกน้อย และอากาศร้อน ทำให้มันต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของลำต้นให้เหมาะสำหรับการเก็บสะสมน้ำ

นักพฤกษศาสตร์จัดตะบองเพชรให้อยู่ในวงศ์ Cactaceae เพราะเป็นพืชที่มีตุ่มหนาม เป็นบริเวณที่เกิดดอกและแตกกิ่งใหม่ ผลของพืชสกุลนี้มักมีสีสันสดใสและมีรูปกลม รูปไข่ หรือทรงกระบอก ผิวของผลมักเป็นมันเรียบ แต่ก็อาจมีขนหรือหนามแข็งปกคลุม ผลของตะบองเพชรบางพันธุ์มีลักษณะเป็นเกล็ดซ้อนกัน เนื้อผลมีลักษณะนุ่มใสคล้ายวุ้นและมีเมล็ดปน เวลาผลแก่มันจะแห้งตัวทั้งผล แต่ผลแก่ของตะบองเพชรบางพันธุ์อาจปริแตก ทำให้เมล็ดของมันกระเด็นออกไปได้

ตามปกติตะบองเพชรเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศร้อนแห้งแล้ง ความทนทานเช่นนี้ทำให้มันสามารถเติบโตงอกงามได้ในทุกสภาพพื้นที่เช่น ชายทะเล ทุ่งหญ้าในป่าที่มีความชื้นสูง ภูเขา หรือตามไหล่เขา และแม้แต่ในทะเลทรายก็มีตะบองเพชรเช่นกัน มันชอบดินโปร่งที่ร่วน เพราะน้ำสามารถไหลผ่านรากมันได้สะดวก การมีขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยดอก อิฐหัก หรือกระดูกป่นในดินที่ใช้ปลูกก็สามารถทำให้ตะบองเพชรเติบโตได้ดี แต่จะอย่างไรก็ตาม ชาวไร่ตะบองเพชรก็รู้ดีว่า ต้นไม้ของตนจะงอกไม่งาม ถ้าต้นขาดน้ำ ดังนั้น เขาจึงนิยมรดน้ำให้ถึงรากและเริ่มรดครั้งต่อไป เมื่อดินเริ่มแห้งข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคือ ตะบองเพชรไม่ชอบดินที่มีน้ำขังหรือดินแฉะ นอกจากนี้ชาวไร่ก็ต้องควบคุมแสงแดดให้พอเหมาะพอดีด้วย เพราะแสงที่เหมาะกับต้นอ่อนคือ แสงแดดในยามเช้าและบ่ายที่แดดไม่ร้อนจัด การได้แสงที่มากไป จะทำให้ต้นแห้งตาย แต่หากได้รับแสงพอเหมาะต้นอ่อนจะเจริญงอกงาม เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ ดังนั้น ชาวไร่หลายคนจึงนิยมปลูกตะบองเพชรในเรือนกระจก เพราะสามารถควบคุมอุณหภูมิที่ระดับ 27-32 องศาเซลเซียสได้

ในการให้ปุ๋ยก็เช่นกัน ถ้าให้มากไปสีของต้นจะเปลี่ยน คืออาจจะเขียวมากขึ้นได้ ดังนั้น ชาวไร่จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ปุ๋ยเกิน 1 ครั้งใน 1-2 สัปดาห์ และต้องระมัดระวังไม่ให้ความเข้มข้นของปุ๋ยสูงเกินไปด้วย

ศัตรูที่พบมากคือ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย ไรแดง เพลี้ยไฟ ไส้เดือนฝอย หอยทาก และทากดิน และศัตรูเหล่านี้สามารถกำจัดได้โดยการพ่นยา nicotine sulphate metaldehyde malathigon และ pyrethroid เป็นต้น

ประโยชน์ที่สำคัญของตะบองเพชรคือ ลำต้นใช้ต่างเสาในการปลูกกระท่อมหรือเป็นรั้ว กิ่งแห้งของตะบองเพชรใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ลำต้นตะบองเพชรเวลาเอาหนามออกแล้ว ใช้ทอดรับประทานกินแทนผักได้ ส่วนผลนั้นใช้ทำแยมหรือเยลลี่ ขนตะบองเพชรบางพันธุ์มีสารอัลคาลอยด์ที่มี mesealine ซึ่งสามารถทำให้ผู้บริโภคมีอาการประสาทหลอนเช่น มีความรู้สึกเห็นแสงจ้ามาก ดังนั้น การบริโภคมากอาจเป็นอันตราย จะอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนหลายคนที่ชอบตะบองเพชรคือ มันเป็นพืชที่ใช้ตกแต่งประดับเล่นที่สามารถให้ความเพลิดเพลินได้

สำหรับวิธีการขยายพันธุ์นั้น ก็มีหลายวิธีได้แก่ วิธีเพาะเมล็ด โดยเอาเมล็ดมาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แล้วโยนลงบนของผสมระหว่างทรายกับ humus แล้วโรยทับด้วยทรายที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อโรค การปลูกวิธีนี้ต้องควบคุมระดับความชื้นในจาน เพาะให้เหมาะสม เพราะถ้าความชื้นสูงเกินไป ตะบองเพชรจะเน่า วิธีที่สองได้แก่ วิธีตัดแยก โดยการตัดกิ่งแยกจากต้นเดิมในหน้าฝน เมื่อตัดแล้วก็ผึ่งแดดให้แห้งจนมีรากงอกออกมา จากนั้นก็นำไปลงชำแล้วรดน้ำ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนวิธีสุดท้ายคือ วิธีต่อยอดซึ่งสามารถร่นเวลาออกดอกของตะบองเพชรได้ โดยการตัดส่วนของต้นพันธุ์แล้วนำมาวางซ้อนบนต้นตอ แล้วยึดด้วยเทปใส จากนั้นก็นำกระถางต้นไม้ที่ตัดต่อใหม่นี้วางในที่ร่ม เพื่อให้มันเติบโตต่อไป

เหล่านี้คือ วิธีที่มนุษย์ใช้ในการแพร่พันธุ์ตะบองเพชร แต่ก็มีตะบองเพชรอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ใช้ค้างคาวในการแพร่พันธุ์

ในวารสาร Ecology ฉบับที่ 88 หน้า 2617-2629 เมื่อเร็วๆ นี้ H. Goldinez Alvarez และคณะได้รายงานว่า ค้างคาวคือพาหะแพร่พันธุ์ที่ดีที่สุดสำหรับต้นตะบองเพชรพันธุ์ Neobuxbaumia tetetzo ที่ชอบขึ้นในหุบเขา Tehuacan ของเม็กซิโก

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของต้นตะบองเพชรพันธุ์นี้ คือเป็นต้นตะบองเพชรยักษ์ที่รู้จักกันนานทั่วไปว่า saguaro ต้นตะบองเพชรพันธุ์นี้ชอบขึ้นในทะเลทรายที่มีฝนตกน้อย ดังนั้น มันจึงตัดปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการวิวัฒนาการรากของมันให้หยั่งลึกในดิน จนถึงชั้นที่มีน้ำใต้ดินเพื่อดูดซับน้ำขึ้นเลี้ยงลำต้น การไม่มีใบทำให้ลำต้นมันเก็บสะสมน้ำได้มาก นอกจากจะทำหน้าที่เป็นคลังอาหารให้ต้นแล้ว สีเขียวของลำต้นยังทำหน้าที่สังเคราะห์อาหารอีกด้วย ตามปกติตะบองเพชรยักษ์นี้ มีลำต้นสูงประมาณ 15 เมตร และมีน้ำเก็บในลำต้นมากตั้งแต่ 6-7 ต้น โดยรูปร่างของลำต้นจะเปลี่ยนตามสภาพน้ำที่มีในดิน เมื่อต้นสูง 2-7 เมตร และขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตะบองเพชรยักษ์จะมีดอกกลมเล็กที่ปลายยอด และตามลำต้น โดยดอกจะบานอยู่นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ เมื่อดอกร่วงในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา ผลจะสุก ผลมีลักษณะคล้ายมะเดื่อ เนื้อผลมีรสหวาน และเมล็ดสีดำภายในมีสารอาหารให้นก หนู สุนัขและค้างคาวมากัดกิน การสำรวจประสิทธิภาพการแพร่พันธุ์ของต้นตะบองเพชรนี้ ทำให้เราได้ข้อมูลว่าจาก 1,000 เมล็ด ที่ต้นผลิตจะมีเพียง 1 เมล็ดเท่านั้น ที่ได้แพร่พันธุ์เพราะรากของต้นอ่อนมักไม่ติดดินลึก เวลาฝนตก น้ำฝนจะพัดพาต้นอ่อนตามน้ำไป หรือไม่ต้นอ่อนก็ถูกสัตว์เหยียบย่ำจนตาย นอกจากจะเติบโตช้ามากแล้ว บางครั้งสัตว์ต่างๆ เช่น นกหรือสุนัขจิ้งจอกก็ชอบกินต้นตะบองเพชรอ่อนๆ ด้วย

เมื่อการอยู่รอดมีอุปสรรคเช่นนี้ การแพร่พันธุ์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นวิธีเดียวที่มันจะดำรงชีพในทะเลทรายได้ และ Goldinez-Alvarez ก็ได้พบว่า เวลานกหรือค้าวคาวกินผลตะบองเพชรแล้วถ่ายมูล คุณภาพของสถานที่ที่มันปล่อยทุกข์ และการที่เมล็ดในกระเพาะไม่ถูกทำร้ายคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันแพร่พันธุ์ไปได้ไกลกว่าและมากกว่าวิธีธรรมดา

เพราะพืชนั้นตามธรรมดาต้องการสืบพันธุ์เช่นคนหรือสัตว์ ดังนั้น มันจึงใช้วิธีผลิตเมล็ด และเมล็ดก็ต้องถูกส่งไปยังสถานที่ที่เหมาะ มันจึงจะเจริญเติบโตได้

ต้นตะบองเพชรยักษ์ Neobuxbaumia tetetzo ก็เช่นกัน มันชอบขึ้นในท่ามกลางของพืชพุ่ม Mimosa luisana เพราะพืชชนิดนี้ทำหน้าที่ปกป้องต้นอ่อนของตะบองเพชรพันธุ์ดังกล่าวได้ดี แต่พอต้นตะบองเพชรเติบใหญ่ต้น Mimosa ก็ตาย เหลือแต่ต้นตะบองเพชรโดดเด่น จนกระทั่งต้นตะบองเพชรแก่ตายแล้วพืชพุ่ม Mimosa ก็จะเข้ามาปกคลุมพื้นที่อีก วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

เพราะเหตุว่าใบของต้น Mimosa สามารถปกป้องต้นตะบองเพชรอ่อนไม่ให้ถูกแดดแผดเผา ดังนั้น มันจึงเจริญเติบโตได้ดี ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่าถ้าสัตว์นำเมล็ดของต้นตะบองเพชรไปฝังใกล้กอต้น Mimosa มันจะเจริญงอกงาม

Goldinez-Alvarez กับคณะได้พบว่า ถ้าเขาสำรวจดูปริมาณเมล็ดที่สัตว์ต่างๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก นก wren นกหัวขวาน และค้างคาวกิน ดูคุณภาพของเมล็ดที่ถูกย่อยผ่านกระเพาะสัตว์ หรือดูคุณภาพของสถานที่ที่สัตว์ถ่ายเมล็ด

เขาได้พบว่า สุนัขจิ้งจอกชอบกินผลตะบองเพชรที่ตกตามพื้น ส่วนค้างคาวกินผลบ่อยที่สุดและมากที่สุด และนก finch เวลากินผลแล้ว เมล็ดในผลจะถูกย่อยจนแหลกละเอียด มันจึงไม่ช่วยในการแพร่พันธุ์แต่ประการใด นอกจากนี้นกหัวขวานก็ไม่ชอบบินไปถ่ายทุกข์ที่ใกล้ต้น Mimosa แต่ประมาณ 43% ของนก wren ชอบบินไปถ่ายใกล้พืชดังกล่าว ในขณะที่ค้างคาว 72% จะบินไปปล่อยทุกข์ใกล้ต้น Mimosa ด้วยเหตุนี้ ค้างคาวจึงเป็นสัตว์สำคัญที่ช่วยในการแพร่พันธุ์ของต้นตะบองเพชรยักษ์ และต้นตะบองเพชรยักษ์ก็ชอบค้างคาวเช่นกัน เพราะมันได้ปรับสีผลของมันไม่ให้เตะสายตานกใดๆ แต่เตะตาค้างคาว โดยมันจะทำให้ผลมันสุกเต็มที่ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ค้างคาวออกหากิน

การพึ่งพาอาศัยกันเช่นนี้ มีพบในพืช สัตว์ และคนทุกหนแห่งครับ